Wednesday, March 12, 2014

เยาวชนกับควาย : อนาคตการศึกษาของชาติ ในมิติทางวัฒนธรรมจากอดีต-ยุคโลกไร้พรมแดน กับการคิดที่ตื้นเขินจริงหรือ?

เยาวชนกับควาย : อนาคตการศึกษาของชาติ ในมิติทางวัฒนธรรมจากอดีต-ยุคโลกไร้พรมแดน
กับการคิดที่ตื้นเขินจริงหรือ?
โดย ดร. สมานชัย สุวรรณอำไพ

ในอดีตเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา คนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในหมู่บ้านต่างๆ อาจจะจำภาพวิถีชีวิตในชนบทได้อย่างแม่นยำหรือถ้าจะให้บรรยายถึงภาพเหตุการณ์ต่างๆ นั้น ก็คงจะมีเรื่องที่จะต้องกล่าวถึงอย่างขาดไม่ได้เลยคือ ควายกับชาวนา หรือภาพนักเรียนหรือเยาวชนไปเลี้ยงควายแทนผู้ปกครองในวันเสาร์-อาทิตย์ ภาพเยาวชนนั่งบนหลังควายขณะควายเดินออกจากคอกไปเลี้ยงในที่ต่างๆ และตอนกลับเข้าคอกในตอนเย็นเป็นฝูงใหญ่ตามถนนดินที่ยังไม่เคยมีถนนคอนกรีตหรือถนนลาดยางเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเยาวชนจะได้รับมอบหมายจากพ่อแม่ผู้ปกครองให้มีหน้าที่ดูแลวัว-ควาย แทนผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ก็สามารถทำงานในแต่ละวันได้อย่างเต็มที่ สถานที่ใช้เลี้ยงควายยังมีมากและกว้างขวางกว่าปัจจุบันหลายสิบเท่า เพราะว่าขณะนั้นพื้นที่ที่มีเจ้าของและพื้นที่สาธารณประโยชน์ยังคงเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่ค่อนข้างจะมีความบริสุทธิ์อยู่มาก มีทุ่งหญ้า โคก ป่า ดง ดอน ห้วย หนอง คลอง บึง อยู่มาก เขตแดนกั้นหรือที่แบ่งบันเขตแดนระหว่างพื้นที่ก็ไม่มีขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางกั้นที่ถาวร เพียงแต่มีหลักปักไว้หรือยึดต้นไม้เป็นแนวเขตที่ง่ายๆ ต่อการสังเกตและจดจำ และอดีตของผู้คนยุคนั้นมีความสุขในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และเริ่มมีการตื่นตัวกับการเริ่มพัฒนาประเทศตามนโยบายของภาครัฐที่ได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวกำหนดเมื่อประมาณ 49 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน

เยาวชนในชนบทยุคนั้นจะเล่นกันตามสภาพของวิถีชีวิตที่มีอยู่ เล่นกันขณะที่ไปเลี้ยงควายเป็นกลุ่มเล็กตั้งแต่ 3-5 คน ไปจน 10-20 คน ซึ่งแล้วแต่การรวมกลุ่มได้ในแต่ละวัน และมีพื้นที่ที่เล่นแตกต่างกันตามลักษณะพื้นที่ใกล้กับบริเวณเลี้ยงควาย เช่น ที่เล่นตามห้วยหนองคลองบึง หรือกระโดดจากต้นไม้ลงน้ำ หรือเล่นดำน้ำแข่งกัน หรือที่เล่นตามลานเนินดินที่โล่งเตียน เล่นการปีนป่ายเถาวัลย์ที่เครือไม้ เล่นเต้นขาเดียว เล่นยางหรือเล่นวิ่งกระโดดขึ้นขี่หลังควายขณะที่คนอื่นกำลังวิ่งไล่ตามหลังมาติดๆ เป็นต้น เมื่อเล่นพอสมควรแล้วก็ไล่ต้อนควายของตนเองกลับบ้านในตอนเย็น ซึ่งเป็นการรวมฝูงของควายฝูงต่างๆ ของแต่ละคนเพื่อกลับเข้าคอก ภาพที่เห็นเด็กนั่งขี่บนหลังควายหรือเดินตามหลังควายที่มีควายเป็นฝูงใหญ่และยาวเหยียดตามถนนดินเก่าๆ ที่สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้เป็นแนวทางที่หลากหลายชนิด ถนนซึ่งเต็มไปด้วยรอยควาย เศษขี้ควายที่เป็นโคลนตมหรือมีฝุ่นตลบอบอวนขณะเดินทาง จึงเป็นภาพที่ชินตาและอยู่ในความทรงจำของผู้คนในชนบทที่มองและบรรยายภาพได้อย่างทะลุปรุโปร่งในยุคสมัยนั้น


การศึกษาของเยาวชนสมัยนั้นใช้หลักสูตร 2503 เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ซึ่งมีหลักสูตรที่แยกเป็นวิชาต่างๆ ที่แตกต่างไปจากหลักสูตรในปัจจุบัน เช่น วิชาเลขคณิต วิชาหน้าที่พลเมือง - ศีลธรรม วิชาภูมิศาสตร์ วิชาวาดเขียน เป็นต้น การประเมินผลการสอบเลื่อนชั้นต้องมีการรวมคะแนนจากวิชาต่างๆ มาคิดรวมเป็นเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปถึงจะผ่าน และแต่ละวิชามีคะแนนที่แตกต่างกันตามความสำคัญ ซึ่งครูผู้สอนยุคนั้นในทัศนของผู้เขียนมองว่าเป็นครูที่มีจิตใจและสำนึกความเป็นครูสูงยิ่ง มีจุดเน้นสำคัญคือ การอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น เท่านั้น คำแก้ตัวของนักเรียนที่กล่าวอ้างถึงการไม่ได้ทำการบ้านมาส่งครูตามที่ได้รับมอบหมายในเย็นวันศุกร์ และส่งงานในจันทร์ตอนเช้า ส่วนมากก็จะหนีไม้พ้น คำกล่าวอ้างว่า ได้ไปเลี้ยงควาย จึงไม่มีเวลาทำการบ้าน หรือเอาน้องให้พ่อแม่ไปทำนาทำสวน และครูเองก็ชินหรือเข้าใจอย่างละเอียดกว่านักเรียนที่เอ่ยปากตอบคำถามเสียด้วยซ้ำ

ในภาคอีสานควายในขณะนั้นจะมีคุณค่าเป็นแรงงานที่สำคัญพอๆ กับมีคุณค่าที่เป็นทรัพย์สิน หรือที่มรดกที่เป็นมูลมังที่ได้รับจากปู่ย่าตายายมาเป็นทอดๆ และถือว่าควายเป็นทรัพย์สินแทนเงินทองที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งการดูแลรักษาควายและให้เกียรติว่าควายเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการยกย่องและให้เกียรติแก่ควายเป็นอย่างยิ่ง ในพิธีกรรม หรือในการทำบุญต่างๆ ในหมู่บ้านหรือในสังคม เช่น การสู่ขวัญ หรือพิธีกรรมที่เป็นสิริมงคล จะมีการกล่าวถึงควายและได้มีควายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยด้านปรัชญาศาสนา ความเชื่อในวิถีชีวิต ความบันเทิง การเกี้ยวพาราศีหรือการจีบสาวของคนสมัยก่อน(ซึ่งมีความรู้ในการใช้ภาษาอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งก่อนการใช้หลักสูตร 2503) ก็ยังมีควายเข้ามาเปรียบเปรยเกี่ยวข้องหรือเป็นคำหวาน หรืออ้อนวอนด้วยถ้อยคำต่างๆ เพื่อจะให้เพศตรงข้ามเข้าใจและเกิดความรัก

ซึ่งแล้วแต่ความสามารถหรือเทคนิควิธีการของแต่ละบุคคลในยุคสมัยนั้น เช่น การใช้ผญาที่เกี่ยวกับควายว่า
“อ้ายคือควายบักเลเฒ่าเขาปกตาก้มซุ้มซู เขาตู้ปู้ตี้ปี้นอนน้ำเกือกขี้ตม
โงเงียขึ้นเห็นสวนพั่นเบ็ดใส่ ฮั้วสี่ซั้นห้าซั้นกะบู๋เข้าโคบเดียว”

(ลักษณะสำเนียงและคำพูดเป็นภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง พี่หรือผู้ชายที่เป็นหนุ่มเปรียบเหมือนควายตัวที่ขี้เหล่ไม่หล่อเหลามีเขาปกตา ซึ่งถือว่าขี้เหล่มากมีเขาปกปิดตาเวลาก้มลง ปกติเขาควายจะโค้งขึ้นด้านบน ลักษณะของเขาที่ขี้เหล่แล้วยังไม่พอ ยังนอนน้ำมีโคลนติดทำให้เนื้อตัวสกปรกไปด้วยโคลน เวลาขึ้นจากปลักน้ำมองเห็นสวนพืชผักต่างๆ ก็เล็งเข้าใส่สวน สวนที่ล้อมรั้วไว้หนาสี่ชั้น ห้าชั้นก็ลุยบุกเข้าสวนได้ทันทีอย่างง่ายดาย ) ซึ่งเป็นการใช้ภาษาที่ไพเราะและมีความหมายเปรียบเทียบที่ลีกซึ้งและงดงามมาก ส่วนสตรีหรือหญิงสาวเมื่อได้ยินคำเปรียบเปรยดังกล่าวก็จะมีการตอบโต้ด้วยคำพูดเป็นนัยที่ท้าทายเช่นกันซึ่งก็เป็นการใช้ไหวพริบในการชี้ทางเพื่อท้าทายและเปิดโอกาสให้ฝ่ายชาย ด้วยว่า


“น้องคือแนวสวนฮ้างทางในหญ้าเขียวอ่อน สิหาควายบักตู้บู๋เข่ากะบ่มี ” (ลักษณะสำเนียงและคำพูดเป็นภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง น้องซึ่งเป็นสตรีเปรียบเป็นสวนร้าง ข้างในสวนมีหญ้าเขียวอ่อนที่ชวนกินจะหาควายตัวผู้สักตัวที่กล้าบุกฝ่ารั้วเข้าไปกินหญ้าในสวนก็ไม่มีสักตัว ) ซึ่งเป็นการใช้ไหวพริบในการใช้ภาษาและสติปัญญาไหวพริบในการเล่นสำนวนและความหมายด้วย ในส่วนที่ใช้ควายเป็นสื่อข้อคิด


เพื่อเป็นคติเตือนใจในแง่มุมให้คิดด้านต่างๆ ก็มีมาก เช่น อยู่บ้านท่านอย่างนั่งเดียวดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น, นาแล้วฆ่าควายถึก ศึกแล้วฆ่าคนหาญ, อย่าเสี้ยมเขาควายให้ชนกัน เป็นต้น ส่วนพิธีกรรมที่เป็นบุญประเพณีต่างๆ เมื่อมีการทำบุญหรือบริจาคเงินให้กับทางวัดเพื่อสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจในพุทธศาสนา พระก็จะอวยพรไปตามหน้าที่หรืออาชีพของผู้บริจาคทานเป็นคำคล้องจองที่ไพเราะน่าฟังอย่างยิ่ง
เช่น คำอวยพรของอาจารย์สวิง บุญเจิม อวยพร ให้พ่อค้าควายไทยที่บริจาคทานดังนี้

บัดนี้ผัดแม่น ..(ชื่อ).. เผิ่นได้โมทนาให้ทำบุญได้.(จำนวนเงิน). บาท ขอประกาศชื่อไว้พอให้ได้ทั่วเถิง สาธุเด้อให้ฮ้อยนี้ละดังตึ้งๆ ทางฝ่ายขายควาย ให้เพิ่นรวยเงินแสนขึ้นไปเถิงเงินล้าน ให้ซื้อหมานขายได้ควายไทยเจ้าขายง่าย ยามเจ้าไล่ไปขายควายอย่าเจ็บป่วยไข้ขาล้าอย่าสิมี ให้มันพีมันอ้วนขาวนวลๆ เหลืองอุยฮุย ทั้งบักตู้บักทุยอย่าสิมีจ่อยล้าขาห่านเล็บคอน

ไล่เข้าดอนดงกว้างเจ้าอย่าห่วงแนวใด๋ ไล่ลงไปเมืองไทยให้อย่างไวไปฟ้าว หนทางยาวอย่ามีล้าให้สนุกกินหญ้ามีแต่โตพีๆ อย่าได้มีโตจ่อย ไล่เข้าดงส้มป่อยบ่อนขโมยฮ้ายๆ ควายเจ้าอย่าสิหาย ฝูงหมู่โจรผู้ร้ายเขาอย่ารอบชิงลัก เขามาดักกลางทางอย่าสิเอาไปได้ ไปฮอดไทยให้พีอ้วนขายเอาโตละหมื่น ฮ้อยอื่นๆ อย่ามีไผสู่ได้ถงแบ้งค์ให้ท้อฮีน บ่มีการกินเหล้าเมาสุราบักอย่างใหญ่ กลับจากขายควายไทยกลับขึ้นมาฮอดบ้านมารฮ้ายอย่าสิมี.....เด้อ....

ในด้านสังคมที่เป็นความบันเทิง ก็มีควายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ในเนื้อหาของเพลงต่างๆ ทั้งเพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากล หรือความบันเทิงที่เป็นลำ ก็จะมีเพลงหรือลำที่ผู้ประพันธ์หรือผู้แต่งได้นำควายเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่บ่งบอกถึงความสำคัญหรือเป็นปัจจัยที่สำคัญด้วย ซึ่งถือว่า ควายเป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อหาของเพลงมากเกือบ 100 เพลง หรือมีความสำคัญของควายในกลอนลำที่มากกว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ เช่น เพลงชมทุ่ง เพลงคนขี่หลังควาย เพลงรอยไถแปร เพลงขายควายช่วยแม่ กลอนลำปริญญาหางไถ ฯลฯ

การลดลงของจำนวนใน พ.ศ. 2534 ประเทศไทยมีควายอยู่ 4,805,071 ตัว และปี2540 เหลือ 2,293,938 ตัว ปี 2547 เหลือ 1,494,238 ตัว (ข้อมูลกรมปศุสัตว์) ควายเริ่มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เพราะพ่อแม่ของเยาวชนที่เป็นชาวนาได้เปลี่ยนจากการใช้แรงงานควายไถนามาเป็นการใช้รถไถนาเดินตามมากขึ้นตามลำดับ เพราะชาวนาเห็นว่ารถไถนาทำงานได้เร็วและมากกว่าควาย ควายส่วนหนึ่งของแต่ละครอบครัวถูกขายจนได้ราคาเท่ากับรถไถหนึ่งคัน ซึ่งจะขายควายประมาณ 3- 6 ตัว และขึ้นอยู่กับขนาดของควายด้วยซึ่งขณะนั้นรถไถนาขณะนั้นราคาอยู่ระหว่าง 3- 5 หมื่นบาท

เยาวชนที่เคยเลี้ยงควายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ในสมัยนั้นเริ่มลดจำนวนน้อยลงตามจำนวนควายด้วย

ซึ่งปัจจุบันควายในแต่ละหมู่บ้านยังคงเหลืออยู่จำนวนน้อยลงตามลำดับ ซึ่งส่วนที่หายไปมีปัจจัยของวัยรุ่นที่มีส่วนคือการรบเร้าพ่อแม่ผู้ปกครองให้ขายควายเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ เพื่อจะได้ขี่ไปเรียนหนังสือที่ถือว่าสะดวกที่สุด ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ก็สามารถขี่ไปเล่นกับเพื่อนต่างหมู่บ้านต่างอำเภอในระยะทางที่ไกลๆ ได้เป็นอย่างดี จะมองไปทิศทางใดในหมู่บ้านหรือตามท้องทุ่งนาในปัจจุบันและจะมองหาภาพเด็กเลี้ยงควายเหมือนอดีตนับว่าเป็นภาพที่หาดูได้ยากมาก ซึ่งถือว่าเป็นการหมดยุคสมัยอย่างสิ้นเชิง

แต่คุณค่าของควายที่มีอยู่ในตัวควายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังมีมูลค่าที่สำคัญและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าความสำคัญด้านการใช้แรงงานควายจะขาดหายไป ในส่วนของคุณค่าควายที่เป็นประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้จากขี้ควายเป็นปุ๋ยใส่นาข้าวหรือพืชผักเอื้อต่อระบบนิเวศ เอื้อต่อวิถีชีวิตที่ปลอดภัย หรือคุณค่าทางอาหาร ควายยังคงประโยชน์อยู่มากและมีคุณค่ายิ่ง เพราะควายเป็นสัตว์ที่ฉลาดพอสมควร สามารถฝึกไถนาได้โดยไม่ยากนักหรือจะฝึกให้คุกเข่า หรือฝึกเดินด้วยเข่าก็สามารถทำได้ จากการหันหลังให้ควายของเยาวชนในยุคปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่น่าคิด เช่น มีทัศนคติว่าโลกปัจจุบันเจริญรุดหน้าไปไกลแล้วจนเป็นโลกไร้พรมแดน หรือเป็นยุคโลกาภิวัฒน์แล้วการเลี้ยงควายเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำหรือน่าอับอาย หรือปัจจัยจากการศึกษาที่ปราศจากการคิดวิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง ปัจจัยจากการพัฒนาประเทศที่รีบเร่งของภาครัฐในแต่ละยุคสมัย ปัจจัยจากการปลูกฝังค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ดีงามขาดหายไป ปัจจัยจากค่านิยมเลียนแบบและตามอย่างดารา หรือปัจจัยการไหลบ่าจากอารยธรรมและวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาทับถมโดยปราศจากการเลือกรับที่ขาดการคิดวิเคราะห์ เช่น เยาวชนหรือวัยรุ่นยุคสายเดี่ยวที่ผ่านไปในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ประมาณปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งการใส่สายเดี่ยวของวัยรุ่นทำให้มองเห็นส่วนสำคัญที่ถือว่าไม่สำคัญทางการคิด (ที่แล้วแต่จะคิด) และมีระยะการขีดขั้นด้วยกางเกงหรือกระโปรงที่เอวต่ำอยู่ระยะสั้นๆ 2-3 ปีเพื่อให้มองเห็นสะดือและหน้าท้องหรือสัดส่วนของเอว จนมาประมาณปี 2550 และปัจจุบันอยู่ในยุควัยรุ่นนุ่งสั้นหรือกางเกงขาสั้น เพื่อการนำเสนอการคิดว่าทันสมัยและนำเสนอว่าขาท่อนบนท่อนล่างสวยหรือไม่ อย่างไร (เนียน ยั่วยวน หรือไม่ด่างดำหรือมีร่องรอยของหอยคันเหมือนเด็กยุคก่อนที่เคยเลี้ยงควาย) และในอนาคตก็สามารถทำนายได้เลยว่ายุคต่อไปเยาวชนหรือวัยรุ่นจะมีการนำเสนอส่วนไหนบ้าง (แต่ก็ขึ้นอยู่กับ Designer ของโลกด้วย ซึ่งส่วนมากอยู่ในโลกตะวันตก ว่าต้องการจะอยากเห็นส่วนใดอีก) และตอบได้ทันทีว่าในอนาคตถ้าสถานการณ์โลกยังเป็นอยู่อย่างปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมด้านการคิดสำนึกแห่งจารีตประเพณีขาดหาย ความอายไม่มีจะทำให้วัยรุ่นที่เคยกินนมวัวขณะอยู่ในวัยเรียนหรือดื่มนมโรงเรียน ไม่เคยกินนมควาย จะนำเสนออยู่สองส่วนที่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเสนอส่วนหน้าหรือส่วนหลังก่อน คือการนำเสนอร่องก้นกบ ให้เห็นวับๆ แวมๆ กับด้านหน้าที่ไม่ต้องการบอกรายละเอียด ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่มาจากหลายๆ ส่วนเช่น การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิด และกระแสโลกซึ่งเป็นพลวัต (Dynamic)


การศึกษาของเยาวชนกับการคิดที่ประณีตในหลายๆ เรื่องที่ขาดหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงาม เป็นเรื่องที่น่าเสียดายในสังคมของไทย นักการเมืองที่โตขึ้นจากสภาพของเมืองก็จะไม่รู้สภาพในวิถีชีวิตที่ลึกซึ้งของชนบท โดยเฉพาะในวัฒนธรรมวิถีชีวิตอย่างประณีตเป็นอย่างไร เมื่อเข้าไปเป็นนักการเมืองก็ไม่ให้ความสำคัญในการวางแผนแก้ไขหรือพัฒนาในรูปแบบที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้แต่วิ่งตามหรือพิทักษ์แสวงหาผลประโยชน์ที่ได้กับตนเองและพวกพ้องร่วมกัน นักการศึกษาก็อยู่ใต้อำนาจการบังคับบัญชาของนักการเมืองผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แนวคิดและความเป็นอิสระใน

การบริหารจัดการทั้งระบบก็มีปัญหาที่ถูกซ่อนเงื่อน เพราะมีทั้งอำนาจตรง อำนาจแวดล้อม และอำนาจแฝงเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการศึกษา ส่วนนักการเมืองที่เติบโตไปจากชนบท ส่วนมากก็จะลืมตัวหรือเนรคุณจากฐานที่เคยเติบโตขึ้น ซึ่งอาจเป็นการหลงลืมตัว หรือเห็นช่องทางที่เป็นประโยชน์ที่พึงจะได้แก่ตนเองพวกพ้องหรือญาติพี่น้อง หรือการชินชากับการใช้คำซ้ำที่ตื้นเขินทางการคิด เช่น คำว่า “ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ” ซึ่งส่วนมากเป็นแต่เพียงคำพูดและการทำสีหน้าประกอบให้ขึงขังเหมือนจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในสังคมจะต้องคิดอย่างมีวิจารณญาณด้วย

ในการล่มสลายทางเศรษฐกิจในบางยุคบางสมัยทั้งของประเทศและของโลก เช่น ประเทศไทยในยุคฟองสบู่แตกเมื่อประมาณปี 2540 ที่ผ่านมา สถานการณ์ของประเทศย่ำแย่ วงการธุรกิจต่างๆ ซบเซา หลายๆ ส่วน ของประเทศทั้งภาครัฐและธุรกิจีเอกชนได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง แต่ในชนบทที่ห่างไกลและดำเนินชีวิตแบบพอเพียงในกลุ่มคนเลี้ยงควายหรือที่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ที่มีควายหลายตัวได้ทราบข่าวอย่างทั่วถึงแต่ไม่ได้รับผลกระทบเท่าที่ควรหรือบางคนไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะดำเนินชีวิตไปตามปกติ เมื่อมีปัญหาคับขันหรือมีความจำเป็นอย่างยิ่งและสำคัญก็ต้องจำเป็นต้อง ขายควาย เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในส่วนที่เป็นปัญหานั้นไป เช่น ความจำเป็นในการส่งค่าเล่าเรียน ลูกเรียนในระดับปริญญา หรือ ความจำเป็นซ่อมแซมบ้านที่ต้องใช้เงิน เป็นต้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับหนึ่งได้กำหนดรายได้ของประชากรเฉลี่ยขั้นต่ำไว้ 3 หมื่นบาทต่อปี ประชากรจะอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ในขณะที่คนเลี้ยงควายเป็นฝูงขายควายเพียงปีละ 2-3 ตัว ก็อยู่ได้อย่างสบายทั้งครอบครัว โดยคำนึงถึงในแต่ละปีจะขายควายกี่ตัว ตัวละประมาณเท่าไหร่ ใช้จ่ายอะไรบ้างอย่างไร ซึ่งคนเลี้ยงควายสามารถอธิบายรายละเอียดได้ และดำรงชีวิตทั้งครอบครัวได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพเช่นกัน ถ้าเป็นกรณีควายฝูงใหญ่จำนวน 80 ตัว ของเกษตรกรรายหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ที่ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ก็จะมีรายได้จากการขายขี้ควายอย่างเดียวปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อปี รายได้จากการขายรกควาย (น้องควาย) น้องละ 600 บาท ปีละไม่ต่ำกว่า 35,000 – 40,000 บาทต่อปีและไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ลูกค้ามาสั่งจองไว้เป็นคิวที่ยาวเหยียด ส่วนการขายควายเพื่อให้คงไว้ประมาณ 80 ตัวต่อปีนั้น ต้องขายทุกปีและขายเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20 ตัว ซึ่งเป็นรายได้มากพอสมควร แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีทั้งมีภูมิปัญญาที่เหนือความคาดหมายของคนทั่วไปในการจัดการด้วย เช่น ใช้คนเลี้ยง 2 คน และหมาอีก 6 ชีวิตที่ไปช่วยไล่ต้อนดูแลควายช่วยนั้นก็เป็นหมาพื้นบ้านธรรมดาๆ

ในการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ศึกษาวิจัย ในรายละเอียดของรายได้ การใช้จ่ายวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในชนบทหรือผู้เลี้ยงควาย โดยไม่ศึกษาร้อยรัดที่เป็นภาพเห็นได้ชัดเจนในแต่ละแง่มุม เช่น กระทรวงศึกษา หรือสำนักงานสถิติจังหวัดแต่ละจังหวัดอาจไม่ได้เก็บข้อมูลในรายละเอียดอย่างต่อเนื่องของผู้จบการศึกษาของแต่ละระดับว่าแต่ละปีมีจำนวนเท่าใดของจำนวนแต่ละหมู่บ้าน ไปทำงานหรือประกอบอาชีพต่างถิ่นเท่าใด ประกอบอาชีพที่บ้านของตนเองเท่าไร รายได้อาชีพแต่ละอย่างเป็นอย่างไร อาชีพอะไร

ที่จะประกอบได้และสอดคล้องกับความสามารถความถนัดของตนเอง หรือสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นแวดล้อมที่คุ้มค่ากับเวลา หรือคุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งวิธีคิดและแนวคิดกับการทำงานในแต่ละวันที่จะทำให้การดำเนินชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาที่ถูกปลูกฝังในมิติต่างๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทั้งที่เป็นสากลและที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมิติทางวัฒนธรรม ควรที่มีการสั่งสมการคิดวิเคราะห์ไปตั้งแต่เป็นเยาวชนเป็นลำดับแรก เพื่อจะเกิดการคิดที่มีเหตุผลในอนาคต เช่น ปัจจุบันปี 2554 จำนวนควายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่หรือบริเวณที่เลี้ยงควายต้องมีหญ้าที่ปราศจากควายกิน ถ้าหากเยาวชนคิดถึงกรณีเช่นนี้ ก็จะมีคนเลี้ยงควายและมีหญ้าให้ควายกินและจะเกิดสิ่งที่ตามมานั้น คุณค่าที่เกิดจากการคิดนั้นๆ ได้เช่นกัน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ได้ละทิ้งควายไปหมดแล้ว หากภาวะทางเศรษฐกิจของโลกล่มสลายลงในอนาคตอันใกล้ เยาวชนที่คิดได้อย่างตื้นเขินเพียงเพื่อจะเลี้ยงควายเพื่อสร้างรายได้ในการดำรงชีวิต และบนฐานปัจจัยที่มีอยู่รอบข้างในฐานการลงทุนที่ต่ำ เช่น หญ้าควายมีมากพอและไม่ได้ซื้อหาแต่อย่างใด หากจะถามว่า วันเวลาผ่านไปหรือเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นพวกที่คิดอย่างตื้นเขินเหล่านี้อาจยิ้ม หรือหัวเราะได้

อย่างภาคภูมิใจ และวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาระหว่างคนกับควายนั้น ยังเป็นแบบอย่างในการคิดทางบวกอีกแง่มุมหนึ่งของการดำเนินชีวิตได้จริงหรือ?

เกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงควาย นายจำปา ฝายเมืองฮุง ปราชญ์ฝึกสอนควาย

Saturday, March 8, 2014

ดร.ควาย :doctorkwai : ดร.สมานชัย สุวรรณอำไพ. ให้ความสำคัญ ควาย สัตว์ที่มีบุญคุณทางด้านสังคมวัฒนธรรม ประเพณีและสิ่งแวดล้อม

                                  ควาย สัตว์ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่บทบาทในสังคมชาวนาไทย
                                                  ดร.สมานชัย  สุวรรณอำไพ. (กลาง)
                                      ดร.สมานชัย : ปัจจุบัน ควายยังมีคุณค่าและความสำคัญ.

Wednesday, March 5, 2014

เรื่องราวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับของควายไทย จากผู้รู้ ผู้คลุกคลีเรื่องขี้ควายโดยตรง

บ้านควาย จังหวัดสุพรรณบุรี 2557
เริ่มก่อตั้งเว็บบล็อกเรื่องราวควายๆนี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557